เผยตัวเลขยอดขายรถจักรยานยนต์ปี 48 แม้ทำสถิติใหม่ 2.1 ล้านคัน แต่ตลาดขยายตัวแค่ 3% ลดลงเมื่อเทียบกับสองปีที่ผ่านมา คาดการณ์ปีนี้ทุกยี่ห้อขายเพิ่มแค่ 5 หมื่นคัน ด้วยตัวเลขรวม 2.15 ล้านคันเท่านั้น
นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เผยยอดการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ประจำปี พ.ศ.2548 ที่ผ่านมาพบว่า ยอดรวมการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม สามารถทำตัวเลขรวมทุกยี่ห้อจำนวนถึง 2,108,078 คัน โดยเพิ่มจากปีพ.ศ. 2547 ซึ่งมียอดรวมการจำหน่าย 2,043,650 คัน เพิ่มขึ้น 64,428 คัน ในอัตราเติบโต 3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีการเติบโตน้อยกว่าสองปีที่ผ่านมา
จากการวิเคราะห์สภาพการจำหน่ายในเดือนธันวาคม ตลาดรวมมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยในระดับ 94% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยมียอดจำหน่ายรวมในเดือนธันวาคม จำนวน 179,958 คัน โดย รถแบบครอบครัว มีจำนวน 124,421 คัน คิดเป็นร้อยละ 69 รถครอบครัวสปอร์ต มียอดจำหน่าย จำนวน 12,298 คัน คิดเป็นร้อยละ 7 รถแบบสกู๊ตเตอร์ มียอดจำหน่าย 41,189 คัน คิดเป็นร้อยละ 23 รถสปอร์ต มียอดจำหน่าย จำนวน 1,704 คัน คิดเป็นร้อยละ 1 นอกจากนี้ยังมี รถออฟโรด อีก 346 คัน
ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ประจำปี 2548 (แยกตามประเภทรถ)
ที่มา - กรมขนส่งทางบก
ประเภท |
จำนวน
(คัน) |
ส่วนแบ่งตลาด |
รถครอบครัว | 1,642,576 |
78% |
รถครอบครัวกึ่งสปอร์ต | 134,641 |
6% |
รถสกู๊ตเตอร์ | 311,143 |
15% |
รถสปอร์ต | 14,696 |
1% |
รถออฟโรด | 5,022 |
0% |
รวม |
2,108,078 |
100% |
แม้ว่าสภาพการจำหน่ายในเดือนธันวาคมจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องด้วยเป็นเดือนสุดท้ายของปีที่มีจำนวนวันหยุดหลายวัน
ทำให้ค่ายผู้ผลิตมีการปรับลดกำลังการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมนั้น แต่ยังสามารถทำให้สภาพการจำหน่ายรวมทั้งปีพ.ศ.2548 ปรับตัวสูงสุดเป็นสถิติใหม่ของตลาดรถจักรยานยนต์ไทย ด้วยยอดจำหน่ายรวม 2,108,078 คัน
สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไทยในปี พ.ศ.2549 นี้ ฮอนด้า คาดการณ์ว่าตลาดน่าจะยังเติบโตจากปีที่ผ่านมา โดยมียอดจำหน่ายรวมอยู่ที่ 2.15 ล้านคัน สำหรับ ฮอนด้า นั้นได้ตั้งเป้าการจำหน่ายรวมที่ 1.5 ล้านคัน
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2548 ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศมีความผันผวนค่อนข้างมาก อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่ยังคงรุนแรง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและตลาดยานยนต์ทั้งระบบ (ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์) ประกอบกับสภาวะที่ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศกำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัว ทำให้ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในปี 2548 ค่อนข้างซบเซา
โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีซึ่งภาครัฐได้มีการประกาศลอยตัวราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล หลังจากได้พยายามตรึงราคามาหลายปี ในขณะที่น้ำมันเบนซินก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก 2548 จึงมีการชะลอตัวและสะดุดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยยอดขายรถจักรยานยนต์ในบางเดือน อันได้แก่ เดือน ก.พ. มี.ค. และเม.ย.มีอัตราเติบโตติดลบ (คือร้อยละ-0.87, -2.12 และ –11.59 ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2547
อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดได้กระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ตลอดปี 2548 ยังคงมีการขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.0 ด้วยยอดขายประมาณ 2.11 ล้านคัน ซึ่งนับว่าชะลอตัวลงมากเทียบกับที่ได้เคยเติบโตถึงร้อยละ 14.7 และร้อยละ 33.1 ในปี 2547 และ 2546 ตามลำดับ คาดว่าในปี 2549 ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ภายในประเทศจะมีการขยายตัวไม่มากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงผันผวน ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมทั้งสภาพตลาดรถจักรยานยนต์ภายในประเทศเองที่ใกล้จะอิ่มตัว ทั้งนี้ ตลาดน่าจะเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น ด้วยยอดจำหน่ายรวมทั้งปีจะอยู่ที่ใกล้ๆ 2.2 ล้านคัน