ร่วมงานกับเรา
ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ > ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือนพ.ค.49
ตลาดรถจักรยานยนต์เดือน 5 ยังโตฝ่าปัจจัยกวาดยอดขายเกือบล้านคัน
ที่มา - ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 15 มิ.ย.49

ตลาดรถจักรยานยนต์ยังโต 5 เดือนแรกกวาดเกือบล้านคัน แม้ได้รับผลกระทบกับภาวการณ์รอบด้าน เผยพ.ค.ทุกยี่ห้อทำยอดได้ 2.06 แสนคัน โตขึ้น 6.8% ขณะที่ 5 เดือนแรกกวาด 9.39 แสนคัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบ 10%

แหล่งข่าวจากวงการรถจักรยานยนต์ เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา ตลาดรถจักรยานยนต์ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติด้านราคาน้ำมัน การเมือง และเศรษฐกิจโดยรวมบ้างเล็กน้อย โดยจะเห็นได้จากยอดขายโดยรวมมีอัตราการเติบโตในระดับที่ไม่มากนัก และคาดว่าภายในสิ้นปี 2549 นี้ยอดขายอาจะใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้คือ 2 ล้านคัน ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

สภาพการจำหน่ายรวมรถจักรยานยนต์ประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2549 มียอดจำหน่ายรวมทุกยี่ห้อ 209,958 คัน โดยเป็นตัวเลขการจำหน่ายที่เติบโตขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 6.8% โดย ฮอนด้า มียอดจำหน่าย 138,941 คัน ลดลง 2.6% ตามด้วย ยามาฮ่า 44,379 คัน เพิ่มขึ้น 71.5% ซูซูกิ 23,203 คัน เพิ่มขึ้น 35% ไทเกอร์ 935 คัน ลดลง 85% คาวาซากิ 1,058 คัน ลดลง 58% เจอาร์ดี 392 คัน ลดลง 61% แพล็ตตินัม 601 คัน และอื่นๆ 449 คัน ลดลง 46.6%

อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 (มกราคม-พฤษภาคม ) พบว่ามีอัตราการเติบโตเพียง 9.8% โดยมียอดขายรวมทุกยี่ห้อ 939,668 คัน ซึ่ง ฮอนด้า ผู้นำในตลาดรถจักรยานยนต์มียอดขาย 588,395 คัน ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ ยามาฮ่า มียอดขาย 216,355 คัน อัตราการเติบโตที่มากที่สุดหรือเพิ่มขึ้น 79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซูซูกิ มียอดขาย 109,818 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 17.6% ไทเกอร์ มียอดขาย 10,325 คัน ลดลง 66% คาวาซากิ มียอดขาย 6,218 คัน ลดลง 38% เจอาร์ดี มียอดขาย 3,196 คัน ลดลง 15% แพล็ตตินัม ซึ่งเพิ่งเข้าตลาดมาได้ไม่นานมียอดขาย 2,562 คัน และที่เหลืออีก 2,799 คัน ลดลง 11%

ยอดขายรถจักรยานยนต์ประจำปี 2549 (ม.ค.-พ.ค.)
(แยกตามยอดจำหน่าย)

อันดับ
ยี่ห้อ
ม.ค.-พ.ค.49
ยอดขาย (คัน)
%
เติบโต*
1
ฮอนด้า
588,395
62.62
ลดลง 1%
2
ยามาฮ่า
216,355
23.02
เพิ่มขึ้น 79%
3
ซูซูกิ
109,818
11.69
เพิ่มขึ้น 17.6%
4
ไทเกอร์
10,325
1.10
ลดลง 66%
5
คาวาซากิ
6,218
0.66
ลดลง 38%
6
เจอาร์ดี
3,196
0.34
ลดลง 15%
7
แพล็ตตินัม
2,562
0.27
-
8
อื่นๆ
2,799
0.3
ลดลง 11%
 
รวม
939,668
100
-
* เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับยอดขายรถจักรยานยนต์ยอดนิยมอันดับหนึ่งนั้นยังเป็นรถครอบครัว ฮอนด้าเวฟ 100 ตามด้วยรถสกู๊ตเตอร์อย่างฮอนด้า คลิก, ฮอนด้า อาร์ 125 อาร์, ซูซูกิ สเตป,ซูซูกิ สแมซ รีโว และยามาฮ่า นูโว

ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมเช่าซื้อธุรกิจรถจักรยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในช่วงนี้ถือว่าอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ผู้ให้บริการเช่าซื้อก็มีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ต้องการซื้อมอเตอร์ไซด์อย่างหละหลวมกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ล่าสุดพบว่าจำนวนลูกค้าที่ไม่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะตัวเลขของลูกค้าที่ไม่ยอมผ่อนชำระเงินงวดแรกเพิ่มขึ้นจาก 3-5 % เป็น 8%

ทั้งนี้การแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการเช่าซื้อต้องยื่นข้อเสนอที่จูงใจ ซึ่งก่อนหน้าก็มีการให้กู้ซื้อรถจักรยานยนต์เกินวงเงิน ลูกค้าไม่ต้องวางเงินดาวน์ หรือดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นกระตุ้นให้เกิดการบริโภค และขยายวงไปสู่กลุ่มลูกค้าในอนาคตซึ่งยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของรายได้และกำลังซื้อ รวมถึงกลุ่มระดับรากหญ้า