ตลาดรถจักรยานยนต์เดือนตุลาคม ทรุดหนักถึง 24% เหตุจากน้ำท่วมรุนแรงถึง 48 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นแหล่งที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของตลาดมอเตอร์ไซด์ คาดการณ์ปีนี้ยอดขายไม่เกิน 2 ล้านคัน ฮอนด้าตั้งเป้า 1.33 ล้านคัน พร้อมจัดกิจกรรมดันยอดขายในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปลายปี ยามาฮ่ายังคงแรงต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าตลาดอย่างฮอนด้ายอดขายยังลดลง ส่วนไทเกอร์อาการหนักสุดยอดขายลดลงมากถึง 79%
นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด รายงานสภาพการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ประเทศไทย ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทรุดหนักลงอย่างรุนแรงถึง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยทรุดลงจากจำนวน 188,599 คันในเดือนต.ค.ปี 48 เหลือเพียง 144,203 คันในเดือน ต.ค. ปี 49
สาเหตุสำคัญที่ฉุดสภาพการจำหน่ายรถจักรยานยนต์โดยรวมลงนั้นมาจากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงกว่า 48 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งล้วนเป็นกำลังซื้อสำคัญของตลาดรถจักรยานยนต์ไทย ฮอนด้าจึงคาดการณ์การจำหน่ายรถจักรยานยนต์โดยรวมในปีนี้คงมียอดรวมประมาณ 2 ล้านคัน
สำหรับในส่วนของฮอนด้าในเดือนต.ค.ดังกล่าวนั้นมีจำนวน 91,652 คัน เทียบเท่าอัตราครองตลาด 64% โดยบริษัทฯ คาดว่าจะมียอดจำหน่ายประมาณ 1.33 ล้านคัน และมียอดการจำหน่ายถึงผู้ใช้ โดยผ่านร้านผู้จำหน่ายทั่วประเทศ ประมาณ 1.38 ล้านคัน และเพื่อให้การจำหน่ายเป็นไปตามเป้าหมาย ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ฮอนด้าได้ร่วมกับผู้จำหน่ายทั่วประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายหน้าร้านหลากหลายรูปแบบ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่
"จากสภาวะน้ำท่วมรุนแรงในปีนี้ที่กินพื้นที่มากถึงกว่า 48 จังหวัด เกิดเป็นความเดือดร้อนในหลายพื้นที่ของ ประเทศไทยนั้น ฮอนด้าในฐานะผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์ไทย และมีผู้ใช้อยู่ทั่วประเทศกว่า 70% ของตลาด ได้ริเริ่มนำทัพคาราวานนายช่างออกให้บริการช่วยเหลือซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ที่เสียหายจากภัยน้ำท่วม ไปเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมียอดสรุปจำนวนรถที่เสียหายเข้ารับบริการรวมจำนวนทั้งสิ้น 10,948 คัน"
อย่างไรก็ตาม จากรายงานยอดขายที่เอ.พี.ฮอนด้านั้นพบว่า
ยอดขายสะสมในช่วง 10 เดือนแรกนั้นมีจำนวนรวม 1,732,799 คัน ยอดขายเพิ่มขึ้นเพียง 2,407 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวนั้น
ได้ถูกรถเกียร์อัตโนมัติแย่งส่วนแบ่งตลาดไป จากยอดขาย 1,375,808 คัน ในปี 2548 และมีส่วนแบ่งตลาด 80% ลดลงเหลือเพียง 990,644 คัน ในปีนี้
และมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 57% ขณะที่ยอดขายรถประเภทเกียร์อัตโนมัติได้เพิ่มขึ้นจาก 228,281 คันในปีที่ผ่านมาเป็น 633,291 คัน เติบโตมากถึง 177% ส่วนรถจักรยานยนต์ประเภทสปอร์ต และรถครอบครัวกึ่งสปอร์ต ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากนัก
นอกจากรถออฟโรดที่มียอดขายลดลงมาถึง 37% มากที่สุดเมื่อเทียบกับรถทุกประเภท โดยยอดขาย 4,304 คัน ในปีที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียง 2,710 คันในปีนี้
ยอดขายรถจักรยานยนต์ประจำปี 2549 (ม.ค.-ต.ค.)
(แยกตามยี่ห้อ)
สำหรับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่านั้นยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และเป็นยี่ห้อที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดมากถึง 31% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมียอดขาย 394,839 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 48 ที่มียอดขาย 302,363 คัน
ตามด้วยซูซูกิ ซึ่งมียอดขายเป็นอันดับที่สามในตลาด มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 11% โดยมียอดขาย 183,001 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 48 ที่มียอดขาย 165,467 คัน ส่วนเจ้าตลาดเบอร์หนึ่งอย่างฮอนด้านั้นมียอดขาย 1,120,160 คัน ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีทีผ่านมาที่มียอดขาย 1,165,990 คัน
ส่วนไทเกอร์ รถจักรยานยนต์สายพันธุ์ไทยนั้นนับว่าเป็นผู้จำหน่ายที่มียอดขายลดลงมากที่สุดถึง 79% จากยอดขาย 57,703 คันในปีที่ผ่านมาลดลงเหลือ 12,022 คันในปีนี้ เจอาร์ดีรถจักรยานยนต์สัญชาติมาเลเซียมียอดขายลดลง 40% จากยอดขาย 8,987 คันเหลือเพียง 5,492 คัน
ยอดขายรถจักรยานยนต์ประจำปี 2549 (ม.ค.-ต.ค.)
(แยกตามประเภทรถ)